วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน การป้องกันและการรักษา

สวัสดีครับ ต่อไปเรามาดูถึงวิธีการป้องกันโรคเส้นเลือดสมองอุดตันกันครับ ซึ่งการป้องกันนั้นแน่นอครับว่าทำได้ง่ายกว่าการรักษามากมายนัก

สำหรับการป้องกันที่ดีที่สุดเลยก็คือ การระวังไม่ให้เลือดเราจับตัวเป็นก้อน หรือตกตะกอนนั่นเองครับ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีได้แก่
1. การลุกเดินหรืออกกำลังกายเบาๆทุก 1-2 ชั่วโมงหากต้องโดยสารหรือนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ การลุกขยับตัวบ่อยๆจะช่วยให้เลือดเก่าที่คั่งค้างอยู่ส่วนปลายได้ไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้ ที่สำคัญยังเป็นการป้องกันโรคหลอดเลือดขอดที่เป็นตัวกระตุ้นให้เลือดเราตกตะกอนง่ายขึ้นด้วยครับ
2. การกินอาหารที่มีวิตามิน K ที่ช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือด ซึ่งพบได้มากในเนื้อสัตว์ นม เนย น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น แต่ก็ไม่ถึงขนาดจำเป็นต้องกินเสริมนะครับ แค่กินอาหารให้เพียงพอไม่ถึงกับขาดก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะการได้รับวิตามิน K มากเกินไปจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้
3. การกินยาบางชนิดเช่น แอสไพริน แอสไพรินมีสรรพคุณในการลดปวด ทั้งยั้งช่วยลดการจับตัวของเลือดได้ด้วย ในคนที่เสี่ยงกับโรคสมองขาดเลือด แพทย์มักจะให้เบบี้แอสไพรินกินเป็นประจำ เพื่อช่วยลดโอกาสที่จะเกิดโรคได้ แต่การกินแอสไพรินต่อเนื่องมีข้อควรระวังคือ ภาวะเลือดออกไม่หยุด ดังนั้นจึงควรกินภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรนะครับ

เห็นไหมครับว่าการป้องกันไม่ยากเลย แต่การรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตันนั้นยากมาก หลายคนต้องกลายเป็นคนพิการทั้งๆที่กำลังจะนั่งเครื่องบินไปเที่ยว โดยหลักการแล้วเมื่อมีอาการจำเป็นต้องรีบพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะโอกาสเสียชีวิตจะสูงกว่าโรคหลอดเลือดสมองตีบธรรมดา เพราะโดยมากแล้วเส้นเลือดที่ถูกอุดตันมักเป็นเส้นเลือดที่มีขนาดใหญ่ เปรียบเสมือนท่อน้ำประปาที่มีขนาดใหญ่อุดตัน จะทำให้แขนงของท่อนั้นขาดน้ำไปทั้งหมด ซึ่งอาจกินบริเวณกว้างมาก จึงทำให้ความพิการที่เกิดขึ้นรุนแรงมากจนถึงขนาดเสียชีวิตได้

ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือแทบไม่มีสัญญาณเตือนใดๆเลย อยู่ๆก็หมดสติไปได้เลย ดังนั้นพยายามให้ความสำคัญกับการป้องกันมากๆนะครับ

โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน (Ischemic Stroke)

สวัสดีครับ หายไปนานเลย สำหรับวันนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องโรคสมองอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความน่ากลัวไม่แพ้กับโรคเส้นเลือดสมองตีบเลย นั่นก็คือโรคหลอดเลือดสมองอุดตันครับ

จากชื่อนั้นคงพอเข้าใจได้ไม่ยากนะครับว่าเกิดจากการที่สมองขาดเลือด ซึ่งสมองเป็นอวัยวะที่ได้รับเลือดผ่านทางเส้นเลือดสมองเท่านั้น และสมองส่วนใดส่วนหนึ่งก็จะได้รับเลือดผ่านเส้นเลือดสมองที่จำเพาะเจาะจงเหมือนกัน คล้ายๆกับการจ่ายน้ำประปาผ่านท่อนั่นแหละครับ ทีนี้เมื่ออยู่ๆท่อเกิดอุดตันไม่ว่าจะจากสาเหตุใดๆก็ตาม เช่นมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดท่อ หรือตัวท่อเกิดตะกอนเกาะหนาขึ้นมาเองจนน้ำไหลผ่านไม่ได้ ก็จะทำให้ส่วนปลายที่ท่อนั้นไปเลี้ยงขาดน้ำหรือขาดเลือดนั่นเอง

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับสมองนั้นมีอยู่สองอย่างนั่นคือ กลูโคสกับออกซิเจน และทั้งสองอย่างนี้ถูกนำพาไปด้วยเลือด เมื่อสมองขาดปัจจัยหลักสองอย่างนี้ก็จะตายลงในระยะเวลาอันสั้นเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น อาการที่จะเกิดขึ้นก็คือ พูดไม่ชัด หน้ามืด หายใจหอบ เวียนศีรษะ อ่อนแรง อาเจียน แรงหน่อยก็อาจหมดสติ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตก็ได้ ถ้าหากส่วนที่ขาดเลือดนั้นเป็นก้านสมอง ซึ่งมีส่วนควบคุมการหายใจอยู่ อาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับบริเวณใดของสมองที่ขาดเลือด โดยส่วนมากแล้วโรคสมองขาดเลือดจะมีบริเวณที่เป็นบ่อยๆไม่กี่จุด และโดยมากมักไม่ค่อยเกิดการอุดตันของเส้นเลือดขนาดใหญ่มากนัก เว้นเฉพาะกรณีที่เป็นการอุดตันจากลิ่มเลือดที่หลุดมาจากบริเวณอื่นเช่นเส้นเลือดใหญ่ที่น่องเป็นต้น

โรคเส้นเลือดสมองอุดตันที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆก็คือ โรค Economy class syndrome หรือโรคเส้นเลือดสมองอุดตันจากการนั่งเครื่องบินชั้นประหยัดนั่นเองครับ เพราะโดยมากแล้วการโดยสารชั้นประหยัดจะทำให้เราไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวทำให้เลือดตกตะกอนและจับตัวเป็นก้อนได้ง่าย หลังจากนั้นก้อนเลือดที่เกิดขึ้นก็จะหลุดลอยไปตามเส้นเลือดไปอุดตันตามที่ต่างๆ ซึ่งส่วนมากมันชอบจะไปที่สมองไม่ก็หัวใจ ทำให้เกิดการขาดเลือดเฉียบพลันถึงขนาดเสียชีวิตได้ครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับ น่ากลัวใช่ไหม บทความต่อไปจะมาพูดถึงวิธีป้องกันและรักษากันนะครับ

วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

โรคหลอดเลือดสมอง(Stroke)(2) : หลอดเลือดสมองตีบ

See this page in english language

     สวัสดีครับ ในครั้งที่แล้วเราได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของสมอง และโรคร้ายที่จะเกิดกับสมองกันคร่าวๆแล้วนะครับ ซึ่งในวันนี้เราจะมาเรียนรู้กลุ่มอาการแรกของโรคหลอดเลือดสมองกันนะครับ ซึ่งก็คือ กลุ่มอาการสมองขาดเลือดจากเส้นเลือดตีบหรืออุดตัน(Ischemic Stroke or Cerebral Embolism) จะเห็นได้ว่าในกลุ่มนี้จะมีสาเหตุหลักๆ 2 อย่างนะครับ เรามาทำความรู้จักกับสาเหตุแรกก่อนแล้วกันครับ
     เส้นเลือดสมองตีบ เราจะพบได้ค่อนข้างเยอะเลยทีเดียวครับ มักก่อให้เกิดอาการอัมพาตครึ่งซีก(ซีกซ้ายหรือขวาของร่างกายเพียงซีกเดียว) โดยมากแล้วจะเจอกับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมาเป็นระยะเวลานานครับ ส่วนความรุนแรงนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเส้นเลือดที่ตีบครับ บางคนเส้นเลือดที่ตีบมีขนาดใหญ่แต่กลับมีอาการไม่มาก ในขณะที่อีกคนหนึ่งเส้นเลือดที่ตีบนั้นเป็นแค่เส้นเล็กๆ แต่กลับสร้างความพิการอย่างรุนแรงก็ได้ จะว่าไปก็ขึ้นอยู่กับดวงเหมือนกันครับว่าจะไปตีบที่ตรงไหน แต่ถึงแม้จะดูน่ากลัวแต่โรคนี้กลับเป็นโรคที่หากท่านมีความรู้และได้อ่านบทความนี้จะสามารถลดความพิการ หรือรอดพ้นจากความพิการได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยนะครับ ผมจึงเลือกที่จะเริ่มจากเรื่องนี้เป็นอันดับแรก เพราะเชื่อว่าคงมีผู้นำไปใช้แล้วรอดพ้นความพิการได้นะครับ
     ผมขออธิบายถึงสาเหตุให้ละเอียดขึ้นอีกนิดหน่อยนะครับ เราจะได้มีความรู้พื้นฐานและเข้าใจโรคนี้ดีขึ้น ในตอนต้นคงได้ทราบแล้วว่าโรคนี้มักเกิดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยเบาหวาน ในส่วนของผู้สูงอายุผมคงไม่พูดถึงมากนักนะครับ เพราะมันเป็นเรื่องความเสื่อมไปของร่างกาย เราไปแก้ไขอะไรได้ไม่มากนัก แต่ผมจะเน้นมากเรื่องโรคเบาหวาน ที่ปัจจุบันคนไทยเป็นกันเยอะ เพราะเราเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารไปจากสมัยก่อนมาก แต่หากจะให้เล่าเรื่องโรคเบาหวานตอนนี้คงไม่จบเรื่องโรคเส้นเลือดสมองแน่ ขออนุญาตรวบรวมไว้เป็นเรื่องของโรคเบาหวานโดยเฉพาะอีกทีแล้วกันนะครับ
     มาต่อที่เส้นเลือดสมองตีบนะครับสำหรับอาการที่ต้องสงสัยว่าเป็นเส้นเลือดสมองตีบอย่างละเอียดมีดังนี้ครับ
  • เวียนศีรษะ(บางครั้งรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมหมุนไปหมด ถ้าใครเคยเล่นหมุนตัวรอบตัวเองสมัยเด็กๆล่ะก็จะรู้สึกแบบนั้นล่ะครับ) ซึ่งจะต่างจากการเวียนศีรษะที่ท่านเคยเป็นอย่างค่อนข้างมากเลยครับ
  • อาเจียน มักเกิดร่วมกับการเวียนศีรษะ บางครั้งอาเจียนจนพุ่งออกมาเลยก็มี
  • ลิ้นแข็งขยับลิ้นได้ลำบาก ลิ้นชา กลืนอาหารลำบาก โดยเฉพาะน้ำจะทำให้สำลักได้ทันที บางคนจะพูดไม่ได้ด้วย
  • ปากเบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่ง บางคนหนังตาตกข้างเดียว อาจมีคอเอียงได้บ้างครับ
  • แขนขาชา(เหมือนเป็นเหน็บ) ขยับได้ลำบาก บางครั้งค่อยๆเริ่มอ่อนแรงลงจนกระทั่งไม่มีแรงไปเลย และจะเป็นเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น(ซ้ายหรือขวา)
  • ลุกขึ้นยืน เดินไม่ได้ ทรงตัวไม่อยู่ มีอาการเหมือนเข่าอ่อนไม่มีแรง
  • บางคนมีอาการที่กล่าวมาทั้งหมดแถมหมดสติไปอีกด้วย
     ถ้าตัวท่านหรือคนที่ท่านรักมีอาการดังนี้อย่าพึ่งตกใจจนทำอะไรไม่ถูกนะครับ ขอให้ปฏิบัติตัวดังนี้คือ
  • หากท่านยังไม่หมดสติ ให้ทำการสำรวจตัวเองอย่างรวดเร็วครับว่าส่วนใดบ้างที่อ่อนแรงลงไปเพราะส่วนมากจะเป็นเพียงซีกเดียวเท่านั้น ท่านยังเหลือร่างกายอีกข้างที่ยังใช้ได้ครับ
  • เรียกคนที่อยู่ใกล้ที่สุดทันที หรือใช้วิธีทำให้เกิดเสียงดังๆก็ได้ ในกรณีที่ท่านพูดไม่ได้นะครับ
  • อย่าดื่มน้ำหรือกินอาหารใดๆเพราะอาจทำให้สำลักลงปอดได้ จะทำให้อาการแย่ลงไปอีกครับ
  • นำส่งโรงพยาบาลทันที ในส่วนนี้สำคัญที่สุดครับ ผมไม่แนะนำให้ส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อนเสมอไปนะครับ เพราะโรคนี้จะลดความพิการหรือรอดพ้นความพิการได้ท่านต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องถายใน 3 ชั่วโมงแรกหลังเกิดอาการเท่านั้น
     ที่บอก 3 ชั่วโมงเพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองบางส่วนที่ขาดเลือดนั้นยังสามารถฟื้นขึ้นมาได้เมื่อได้รับเลือดและออกซิเจนปริมาณสูงเพียงพอครับ บางคนพาเข้าโรงพยาบาลใกล้บ้านแต่แทบไม่ได้รับการตรวจประเมินหรือรักษาใดๆจนพ้นระยะวิกฤติคือ 3 ชั่วโมงไปก็แปลว่าจะกลายเป็นคนพิการค่อนข้างแน่นอนครับ
ดังนั้น ผมขอแนะนำให้พาไปโรงพยาบาลที่สามารถตรวจประเมินได้ทันที มีแพทย์และเครื่องมือที่ตรวจได้ (คือ CT Scan และ MRI )ครับ นอกจากนี้บางโรงพยาบาลในกรุงเทพจะมีระบบรับผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบอยู่แล้วทำให้สามารถเข้าสู่ระบบการตรวจจนกระทั่งได้ยาภายใน 3 ชั่วโมงค่อนข้างแน่นอนครับ
     โรงพยาบาลที่มีระบบนี้เท่าที่ผมนึกออกนะครับ ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช รามาธิบดี ราชวิถี ของเอกชนก็น่าจะเป็นบำรุงราษฎร์ ครับ ส่วนโรงพยาบาลใกล้บ้านท่านจะมีระบบดังกล่าวไหมขอแนะนำให้ท่านโทรศัพท์ไปสอบถามล่วงหน้าก่อนนะครับ และถ้าจะให้ดีทำความเข้าใจกับคนในบ้านไว้ก่อนเลยนะครับว่าถ้าท่านมีอาการขึ้นมาจริงๆจะไปโรงพยาบาลไหนก็จะสามารถรอดพ้นจากความพิการได้เกือบร้อยเปอร์เซนต์เลยครับ
     ในตอนต่อไปเราจะมารู้จักกับอีกกลุ่มหนึ่งนะครับนั่นคือเส้นเลือดอุดตันครับ

วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

กลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke)(1) สมองนั้นสำคัญไฉน?

See this article in english language

      สวัสดีครับ สำหรับวันนี้เรามาพูดถึงเรื่องโรคหลอดเลือดสมองกัน โดยก่อนจะพูดถึงเรื่องการหลีกหนีโรคร้ายนี้ ผมอยากให้คุณมีความรู้กันก่อนว่าโรคกลุ่มนี้ทำให้เราพิการได้อย่างไร เพื่อปูพื้นความรู้ในการสังเกตอาการบางอย่างของตัวเองและคนใกล้ชิดได้ด้วยนะครับ

     ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับสมองกันครับ
"สมองเป็นอวัยวะหลักที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ความรู้สึกนึกคิด การพูด ความจำ ความฉลาด การทำงานของหัวใจและอวัยวะภายในทุกอย่างทั้งในตอนที่เราตื่นและตอนที่เราหลับ"
     เรียกได้ว่าทำงานทุกอย่างและทำงานตลอดเวลานั่นเองครับ ซึ่งถือเป็นอวัยวะมหัศจรรย์มากที่สุดของมนุษย์ก็ว่าได้ ทราบไหมครับว่าทุกวันนี้เรายังเรียนรู้การทำงานของสมองได้น้อยกว่าการรู้จักอวกาศนอกโลกเสียอีกนะครับ

      ด้วยความที่สมองเราต้องทำงานตลอดเวลาย่อมต้องใช้ออกซิเจนและพลังงานมากเป็นธรรมดา ซึ่งสารให้พลังงานที่สมองใช้นั้นก็คือ กลูโคสหรือน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวโดยร่างกายจะส่งออกซิเจนและกลูโคสไปที่สมองทางเส้นเลือดเท่านั้น เห็นไหมครับว่าถ้าเกิดปัญหากับระบบเส้นเลือดก็เปรียบเสมือนเราจะขับรถแบบไม่ได้เติมน้ำมันนั่นเอง ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติในการนำส่งออกซิเจนและกลูโคส สมองจะหยุดการทำงานลงในเวลาไม่นาน และจะหยุดสนิทเมื่อขาดเลือดราวๆ 4-5 นาทีครับซึ่งก็คือสมองตายแล้วนั่นเองแปลว่าการทำงานทุกอย่างของร่างกายก็จะหยุดตามลงไปทั้งหมดทางการแพทย์จึงถือว่าการที่ถูกวินิจฉัยว่าสมองตายให้ถือว่าบุคคลนั้นเสียชีวิตแล้วนั่นเองครับ

     ซึ่งกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองนี้ชื่อก็ตรงตัวเลยครับ คือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหลอดเลือดของสมอง เราจะเจอได้บ่อยมี 3 อย่างนะครับได้แก่
     1. หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน
     2. หลอดเลือดสมองแตก
     3. หลอดเลือดสมองโป่งพอง

     ทั้งสามแบบนี้ล้วนสามารถทำให้เราพิการได้ทั้งสิ้นครับ โดนส่วนมากแล้วมักจะทำให้เราพิการแบบถาวรกันเลยทีเดียว หากเราไม่ป้องกันหรือรีบรักษาเมื่อเกิดอาการอย่างทันท่วงทีครับ จะเห็นได้ว่าโรคกลุ่มนี้ค่อนข้างอันตรายและยังเสี่ยงกับความพิการมากที่สุด แม้จะไม่ได้เป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับแรกก็ตาม แต่เมื่อเกิดขึ้นกับตัวเราก็คงไม่พ้นคำว่า "ไม่ตายก็พิการแหละครับ" ถ้าใครไปโรงพยาบาลบ่อยๆ จะเห็นได้ว่าในบรรดาผู้ป่วยที่มาทำกายภาพบำบัดนั้นกว่าครึ่งหนึ่งมาด้วยอาการทางสมองครับ จนทำให้หลายๆโรงพยาบาลต้องมีทีมแพทย์และนักกายภาพบำบัดเพื่อทำงานด้านนี้โดยเฉพาะเลยทีเดียว สำหรับตัวผมเองก็มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ดูแลอยู่หลายคนเลยครับ บางคนเริ่มเป็นมาเกือบสิบปีเข้าไปแล้ว ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่จะอยู่บนเตียงนอนครับ มาถึงตรงนี้หลายๆคนคงคิดภาพออก และไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนที่เรารักแน่ๆเลยใช่ไหมครับ

     คิดว่าทุกท่านคงเห็นถึงความสำคัญของสมองกันแล้วนะครับ ไว้เรามาดูความแตกต่างแต่ละแบบกันในบทความต่อไปกันครับ

วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553

มารู้จักคำว่าพิการกันก่อนดีกว่า

สวัสดีทุกท่านครับขอขอบพระคุณอีกครั้งที่สนใจติดตามนะครับ

See this page in english language

Live Directory

     เชื่อว่าทุกคนที่ได้อ่านบทความก่อนหน้านี้คงไม่มีใครอยากพิการหรอกใช่ไหมครับ ถ้าอย่างนั้นเรามาเรียนรู้ทำความรู้จักความพิการกันก่อนดีกว่าครับ ความพิการ คือ "การสูญเสียความสามารถในการดำรงชีวิตประจำวันด้วยตนเองบางส่วน หรือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพียงชั่วคราวหรือถาวร" จะเห็นได้ว่าตัวชี้วัดว่าคนๆนึงจะพิการหรือไม่เราจะดูจากความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันของคนๆนั้นนั่นเองครับ ซึ่งเราก็มักจะเปรียบเทียบกับความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันที่บุคคลนั้นทำได้ก่อนที่จะมีการเจ็บป่วยครับพูดง่ายๆก็คือเมื่อไรก็ตามที่เราไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เหมือนก่อนเจ็บป่วย และแนวโน้มของอาการไม่มีทีท่าจะดีขึ้นได้ เราก็ถือว่าเป็นบุคคลพิการแล้วแหละครับยกตัวอย่างเช่น การกินอาหารปกติเราสามารถจับช้อนตักข้าวใส่ปากเองได้ แต่หลังเกิดความเจ็บป่วยเราไม่สามารถจับช้อนทานข้าวได้เหมือนเดิม ไม่สามารถเคี้ยวหรือกลืนอาหารได้ตามปกติ หรือไม่สามารถจะนั่งแล้วใช้ช้อนเองได้ก็ถือเป็นสภาพความพิการทั้งสิ้นครับ แต่ทั้งนี้อาการอาจจะแตกต่างกันด้วยโรคที่เราเป็นครับ ที่เราต้องทำความรู้จักกับสภาพความพิการก็เพื่อตอกย้ำให้ทุกคนเห็นความน่ากลัว และความสำคัญของการป้องกันอีกครั้งหนึ่งครับ

     ทีนี้ต่อมาเรามาแบ่งลักษณะของความพิการกันครับ จริงๆแล้วการแบ่งความพิการสามารถแบ่งได้หลายแบบครับ แต่สำหรับบทความของผมจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทง่ายๆนะครับ คือ
     1.ความพิการที่เป็นอย่างถาวร หรือเป็นระยะเวลานาน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) อัมพาต(Hemiplegia,Paraplegia) โรคหลอดเลือดหัวใจ(Coronary Arteries Disease) ข้อเสื่อม(Degenerative Joint Syndrome)เป็นต้น โรคเหล่านี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันนะครับทั้งยังสิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลเป็นอย่างมากด้วย นอกจากนี้ยังอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้เลยนะครับหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที และบางครั้งอาการของโรคก็รุนแรงมากขึ้นหากได้รับการวินิจฉัยและรักษาไม่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยยากและซับซ้อนขึ้นไปอีกครับ
     2.ความพิการที่เป็นเพียงชั่วคราว คือ มีโอกาสกลับมาเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติได้ ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ยกตัวอย่างก็เช่น การบาดเจ็บของเส้นประสาทชนิดไม่รุนแรง(Nerve Injury) หมอนรองกระดูกเคลื่อนชนิดไม่รุนแรง(Herniate Disc Syndrome) โรคกล้ามเนื้อหัวใจหรือสมองขาดเลือดชั่วคราว(Transient Ischemic Attack) เป็นต้น แม้โรคหรืออาการต่างๆจะเป็นเพียงชั่วคราวแต่ก็ทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ และบางโรคก็เป็นสัญญาณเตือนของการเกิดความพิการอย่างถาวรในอนาคตครับ ใครที่มีความพิการในลักษณะนี้ก็ถือว่าโชคดี แต่ก็ต้องระมัดระวังตัวกันมากขึ้นแล้วครับ เพราะในความโชคดีของท่านอาจมีโรคร้ายแรงอื่นซ่อนตัวอยู่ก็ได้ครับ

      ผมจะพยายามเลือกเสนอโรคที่เราสามารถป้องกันได้เป็นโรคๆไปนะครับเพื่อความต่อเนื่องและเข้าใจง่าย แต่ต้องขออนุญาตบอกไว้ก่อนนะครับว่าบทความของผมนั้นเรียบเรียงมาจากประสบการณ์ในการพบเจอกับผู้ป่วยจริงๆจำนวนมาก ดังนั้นข้อเท็จจริงบางอย่างอาจไม่ตรงกับในหนังสือและตำราเรียนก็ได้นะครับ ซึ่งขอให้ท่านอย่าได้ยึดถือเป็นจริงเสมอไป หรือขอความกรุณาอย่านำไปอ้างอิงในกรณีที่มีความขัดแย้งกับผู้ให้การรักษาของท่านนะครับ ผมเชื่อว่าผู้ให้การรักษาของท่านได้ทำการตรวจร่างกายด้วยตนเองย่อมต้องรู้รายละเอียดมากกว่าผมแน่นอนครับ

     สำหรับในบทความตอนต่อไปผมจะอธิบายถึงลักษณะของโรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุ การป้องกัน และการรักษาครับ

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

รู้ไว้ ห่างไกลความพิการ : ทำไมต้องรู้?

See this topic in english language
     ในปัจจุบันประชากรโลกมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก โดยเฉพาะในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้อายุขัยของเราสูงขึ้นอย่างน้อย 3-5 ปีสาเหตุหลักๆก็เนื่องจากมาตรฐานการบริการด้านสาธารณสุขของประเทศต่างๆสูงขึ้น ความก้าวหน้าด้านการแพทย์ที่พัฒนาไปอย่างมากทำให้มนุษย์สามารถผลิตยาปฏิชีวนะมาจัดการกับโรคติดเชื้อต่างๆซึ่งเป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับหนึ่งในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดีแต่ในทางกลับกัน การที่มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่สุขสบายขึ้นกลับทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างอื่นขึ้นมาแทน ปัญหาสุขภาพในปัจจุบันล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจากการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆของคนไทยและในอีกหลายๆประเทศ

     ในขณะที่อายุขัยของเราสูงขึ้น แต่เราก็มีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรงต่างๆมากขึ้นด้วย และที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือความพิการที่เกิดขึ้นจากโรคนั้นๆ ถ้าเราหรือคนที่เรารักต้องกลายเป็นคนพิการเป็นเวลาหลายปี หรือบางทีอาจจะหลายสิบปีแน่นอนย่อมไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับตัวเอง เพราะจะทำให้เกิดภาระอย่างหนักกับคนในครอบครัวที่จำเป็นต้องดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งนับเป็นค่าใช้จ่ายทั้งเป็นเงินและกำลังคนจำนวนมาก หลายๆครอบครัวที่โชคดีสามารถหารายได้ได้มากพอและมีการดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดีแต่ในอีกหลายๆครอบครัวไม่สามารถจัดการได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมายดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับเราก็คือการป้องกันหรือชะลอการเกิดความพิการที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราหรือคนที่เรารักออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

     ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักกายภาพบำบัดซึ่งเคยพบกับผู้ป่วยและผู้พิการจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีบุคคลใกล้ตัวคือครอบครัวของแฟนผมก็ประสบปัญหาดังกล่าวอยู่เช่นกัน ผมจึงอยากที่จะเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุของความพิการ การสังเกตอาการต่างๆของตนเองและคนในครอบครัวที่เสี่ยงจะก่อให้เกิดความพิการ และรวมไปถึงการจัดการต่างๆเมื่อเกิดโรคขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าตลอดจนการเลือกวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำการรักษาโรคต่างๆนั้นให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อรักษาชีวิตและลดความพิการที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด

     สุดท้ายนี้ผมหวังว่าประสบการณ์ของผมน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่าน เพื่อให้ตัวท่านและคนที่ท่านรักได้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ครับ สำหรับในบทความต่อไปผมจะพูดถึงความหมายและการแบ่งลักษณะความพิการครับ